สักการะพระธาตุดอยตุง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย

ว่ากันว่าถ้ามาเชียงรายแล้วไม่ได้มาสักการะพระธาตุดอยตุง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงรายก็เหมือนมาไม่ถึง

พระธาตุดอยตุง นับเป็นเจดีย์แห่งแรกของเมืองล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1454 สมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ไว้บนดอยแห่งนี้ โดยได้ทำตุง (ธง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ และให้มีชื่อเรียกว่าพระธาตุดอยตุง

ต่อมาในสมัยเจ้ามังรายนราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ เจ้ามังรายนราชจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม ทำให้นับจากนั้นพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้

พระธาตุดอยตุง ถือเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตร ปีกุล ถือว่าครั้งหนึ่งในชีวิตผู้ที่เกิดปีกุล ควรได้เดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคงและความรุ่งเรืองในชีวิต

นอกเหนือจากพระธาตุดอยตุงแล้ว บนดอยตุงยังมีส่วนอื่นให้ได้เที่ยวชมกันอีกด้วย นั่นคือพระตำหนักดอยตุง นั่นเอง

พระตำหนักดอยตุง ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของเรา โดยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีก สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบกับพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับดอยตุงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุง

พร้อมกันนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่า จะปลูกป่าบนดอยสูง จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้นและเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และป่าไม้แล้วยังมีการฝึกอาชีพ เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่าลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียว กันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้

ปัจจุบันพระตำหนักดอยตุงยังคงเปิดให้เยี่ยมชม ในบริเวณพระตำหนักและสวนดอกไม้นานาชนิดกว่า 25 ไร่ ที่สวยงามล้อกับทิวเขาที่โอบล้อม

การเข้าชมพระตำหนักดอยตุง
– เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 07.30 – 17.30 น.
– ค่าธรรมเนียมเข้าชมพระตำหนัก 70 บาท ชมสวนแม่ฟ้าหลวง 80 บาท หอพระราชประวัติ 30 บาท บัตรรวมเข้าชมทั้งสามที่ 150 บาท
– มีร้านอาหารของโครงการ ร้านกาแฟดอยตุง ร้านจำหน่ายของที่ระลึก

การเดินทาง : ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่สาย – พระตำหนักดอยตุง ก่อนจะถึงทางแยกเข้าพระตำหนักดอยตุงให้ตรงไปทางสวนรุขชาติดอยช้างมูบ จะมีป้ายบอกทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ระยะทางจากแยกพระตำหนักถึงวัดประมาณ 7 กม. และ ระยะทางจากเชียงรายถึงพระธาตุดอยตุงประมาณ 60 กิโลเมตร

ดูแผนที่พระธาตุดอยตุง : https://goo.gl/maps/Shmc1G6pz4m
ดูแผนที่พระตำหนักดอยตุง : https://goo.gl/maps/6z3h9HYsWA22